top of page
Writer's pictureRawat Padungkiettiwong

ทุนรัฐบาลไทย ก.พ. Part 1 (ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ)

Updated: Aug 3, 2020

ทุนก.พ. หรือทุนรัฐบาลไทย เป็นทุนที่ทางรัฐบาลไทยจัดสรรให้กับเด็กนักเรียนไทยเพื่อเรียนต่อยังต่างประเทศตามสาขาวิชาที่กำหนด ซึ่งทุนจะครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือและอุปกรณ์ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายเตรียมตัวก่อนเดินทาง ค่าคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งเงินเดือนอีกด้วย โดยหลังจากจบการศึกษาตามที่รัฐบาลหรือต้นสังกัดกำหนดจะต้องกลับมาทำงานในไทยตามที่กำหนด (ยกเว้นทุนเล่าเรียนหลวงที่จะสามารถทำที่ไหนก็ได้ในไทย) ตามระยะเวลาที่แต่ละต้นสังกัดกำหนด หากไม่กลับมาใช้ทุนจะต้องชดใช้ด้วยเงินแทน ตัวทุนนี้จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

1. ทุนเล่าเรียนหลวง

เป็นทุนที่พระราชทานให้แก่นักเรียนจำนวน 9 คน (แบ่งเป็นเด็กที่มาจากการสอบสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ 5 คน สายภาษา-คณิตศาสตร์ 2 คน และสายภาษา 2 คน) โดยผู้ที่ได้รับทุนจะต้องไปศึกษาในระดับปริญญาตรีต่อต่างประเทศที่สถาบันอุดมศึกษาไหนก็ได้ สาขาใดก็ได้ โดยเมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานในไทยเป็นเวลา 1 เท่าของเวลาที่เรียน หากไม่กลับมาปฏิบัติงานในไทยจะต้องชดใช้ทุนเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับไป


2. ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย

เป็นทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบให้เพื่อศึกษาต่างทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านคอมพิวเตอร์หรือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาตรี โดยจำนวนทุน, ประเทศที่กำหนด และสาขาที่เรียนจะแตกต่างไปในแต่ละปี เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 เท่าของที่เรียน หากไม่กลับมาปฏิบัติงานในไทยจะต้องชดใช้ทุนเท่ากับ 2 เท่าของจำนวนเงินทุนที่ได้รับไป โดยธนาคารประเทศไทยอาจพิจารณาให้ผู้รับทุนเรียนต่อในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกได้หากผลการเรียนอยู่ในระดับดี ทั้งนี้อาจจะต้องกลับมาปฏิบัติงานในไทยก่อนหรือหลังแล้วแต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนด


3. ทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์

เป็นทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบให้เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ณ ต่างประเทศ ในสาขาใดก็ได้ระหว่าง คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน คอมพิวเตอร์ บัญชี หรือกฎหมาย จำนวน 1 ทุน เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 เท่าของที่เรียน หากไม่กลับมาปฏิบัติงานในไทยจะต้องชดใช้ทุนเท่ากับ 2 เท่าของจำนวนเงินทุนที่ได้รับไป โดยธนาคารประเทศไทยอาจพิจารณาให้ผู้รับทุนเรียนต่อในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกได้หากผลการเรียนอยู่ในระดับดี ทั้งนี้อาจจะต้องกลับมาปฏิบัติงานในไทยก่อนหรือหลังแล้วแต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนด


4. ทุนกระทรวงการต่างประเทศ

เป็นทุนที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ มอบให้แก่นักเรียนไทยจำนวน 5 ทุนเพื่อศึกษาต่อที่ต่างประเทศในระดับปริญญาตรีและโทในสาขาวิชาตามที่ทางกระทรวงการต่างประเทศจะกำหนด (แต่ละปีจะต่างกัน) เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นระยะเวลา 2 เท่าของที่เรียน หากไม่กลับมาปฏิบัติงานในไทยจะต้องชดใช้ทุนเท่ากับ 2 เท่าของจำนวนเงินทุนที่ได้รับไป


5. ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์

ทุนกระทรวงวิทย์ หรือชื่อจริงก็คือ ทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในทุนของสำนักงาน ก.พ. ที่จะมอบให้นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายได้ไปศึกษาต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ตามความต้องการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้สมัครจะเลือกสาขาวิชาได้เฉพาะตามความต้องการของมหาวิทยาลัยรัฐหรือหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐที่เสนอมาในปีนั้น ๆ แล้วผู้ได้รับทุนจะได้สามารถไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานที่หน่วยงานที่เซ็นสัญญาไว้เป็นระยะเวลา 2 เท่าของที่เรียน หากไม่กลับมาปฏิบัติงานในไทยจะต้องชดใช้ทุนเท่ากับ 2 เท่าของจำนวนเงินทุนที่ได้รับไป


ตารางสอบของแต่ละทุน


หมายเหตุ: ทุนธปท. หรือทุนธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการสอบ 2 แบบตามชนิดทุนที่สมัครไป โดยมีทั้งสอบแบบสายวิทย์-คณิต (สอบวิทยาศาสตร์ ไม่สอบ Writing) และสายภาษา-คณิต (สอบ Writing แทนวิทยาศาสตร์)


คุณสมบัติของผู้สมัคร

1. มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ยกเว้นในกรณีเรื่องอายุตาม ก. คุณสมบัติทั่วไป (2) ของมาตรา 36 นี้ ผู้สมัครมีอายุต่ำกว่า 18 ปีได้

2. มีอายุไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ตามประกาศในแต่ละปีกำหนด

3. กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษาปีที่สมัคร ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหลักสูตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบเท่า โดยได้คะแนนเฉลี่ยสะสมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรวมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 3.50 และเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว จะต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ต่ำกว่า 3.50

4. ไม่สอบตกในวิชาใดวิชาหนึ่งตลอดหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (เฉพาะทุนเล่าเรียนหลวง ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย และทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์)

5. มีศีลธรรม และความประพฤติดี

6. ไม่อยู่ในระหว่างการรับทุนที่มีสัญญาผูกพันในการปฏิบัติงานชดใช้ทุนใด ๆ

7. ผู้สมัครสอบผู้ใดไม่มีคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ไม่มีสิทธิเข้าสอบหรือได้รับทุน


ช่วงเวลารับสมัคร

ประมาณช่วงต้นเดือนกันยายนของทุกปีจนถึงต้นเดือนตุลาคม (วันที่ที่แน่นอน ให้ติดตามในเว็บไซต์ http://scholar2.ocsc.go.th)


วิธีการสมัคร

1. เปิดเว็บไซต์ http://scholar2.ocsc.go.th

2. กรอกข้อความให้ถูกต้องและครบถ้วน ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด ระบบจะออกเลขประจำตัวสอบและแบบฟอร์มการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้โดยอัตโนมัติ

3. พิมพ์ใบสมัครและแบบฟอร์มการชำระเงิน แล้วนำแบบฟอร์มไปชำระเงินเฉพาะที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยมีค่าธรรมเนียมสอบ หน่วย(ทุน)ละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมธนาคาร จำนวน 30 บาท

หมายเหตุ: 1. ผู้สมัครสอบสมัครได้เพียงครั้งเดียว

2. สมัครสอบได้ไม่เกิน 2 ประเภททุน

3. ในแต่ละประเภททุนผู้สมัครสอบมีสิทธิสมัครสอบได้ประเภทละ 1 หน่วยทุน


เอกสารที่ต้องยื่นในวันสอบข้อเขียน

- ใบสมัครที่พิมพ์มา

- สำเนาระเบียนแสดงผลการเรียน

- หนังสือรับรองความประพฤติ ตามแบบฟอร์มในเว็บ

- สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตร หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน อย่างใดอย่างหนึ่ง จำนวน 1 ชุด

สำเนาเอกสารทุกฉบับให้เขียนรับรอง “สำเนาถูกต้อง” ลงชื่อ วันที่ ระบุเลขประจำตัวสอบไว้ที่มุมด้านขวาของเอกสารทุกฉบับ และให้บรรจุเอกสารดังกล่าวในซองเอกสารขนาด A4 เขียน ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวสอบไว้ที่หน้าซอง


สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ (เกณฑ์การตัดสิน เนื้อหาข้อสอบ รายละเอียดทุน ฯลฯ) สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://scholar2.ocsc.go.th

251 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page