แนะนำตัวผู้เขียน – แขกรับเชิญ
โจ้ : สวัสดีอีกครั้งครับ ผม โจ้ ณัฐนันท์ คงชู มาเขียนบทความแนะนำด้านการศึกษาต่อกันอีกแล้ว คราวนี้ก็เป็นทุนกระทรวงวิทย์ที่เด็กไทยหลาย ๆ คนใฝ่ฝันใช่มั้ยครับ ผมก็เช่นกัน เพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ผมเลยสมัครทุนนี้ไปด้วย ก็พอจะรู้เรื่องอยู่บ้าง แต่ครั้งนี้ผมจะไปคุยเพื่อนผมคนนึงดีกว่า เพราะเค้าก็ได้สมัคร ไปสอบ แล้วก็ตัดสินใจรับทุนนี้ไปแล้ว น่าจะมีข้อมูลอย่างละเอียดมาเล่าให้พวกเรากันฟังนะฮะ ขอเชิญเพื่อนณัฐครับ ณัฐช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ
ณัฐ : สวัสดีคร้าบ ผมชื่อนายศุภณัฐ จินะเป็งกาศ อายุ 18 ปี เกิดวันที่ xxx เดือน xxx ปี xxxx จังหวัด xxx จบมัธยมปลายที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ตอนนี้ณัฐได้รับทุนก.พ. จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ศึกษาต่อจนถึงปริญญาเอกเลย ซึ่งคณะที่ณัฐต้องเรียนก็คือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร แล้วก็จบไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา
ทำไมถึงเลือกทุนนี้
ณัฐ : คือมันเป็นทุนระยะยาว หลังจากเรียนจบก็มีงานรองรับแน่นอน ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เงินเยอะมากขนาดนั้น แต่เราก็มีที่ทำงานแน่นอน แล้วก็มันเป็นคณะที่เราอยากได้ แล้วก็ได้ก่อนที่อื่นจะประกาศผลการสมัคร
โจ้ : ได้ยินว่าณัฐเลือกจะไปแถวทวีปอเมริกาเหนือใช่มั้ย ทำไมถึงเลือกไปแถบนั้น เอางี้ “เราสามารถเลือกประเทศอะไรได้บ้าง”
ณัฐ : อันนี้ก็แล้วแต่หน่วยทุนเหมือนกันว่าจะให้ไปประเทศอะไรได้บ้าง อย่างของณัฐก็ไห้ไป อเมริกา แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกไปอเมริกากับอังกฤษ ก็เพราะทั้งสองประเทศมีมหาวิทยาลัยดัง ๆ อยู่เยอะ
โจ้ : แล้วเราคำนึงถึงเรื่อง “การใช้ชีวิตที่นั่น” มั้ย ว่าถ้าเราไปอยู่ในอเมริกา เราจะเข้ากับไลฟ์สไตล์ที่นั่นได้มั้ย
ณัฐ : จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องกังวลเนอะ แต่ว่าอย่างของณัฐก็จะหน่วยงานที่คอยดูแลแนะนำว่าต้องเตรียมตัวยังไง อย่างตอนอยู่ไทยก็มี ก.พ. เป็นหน่วยงานที่ดูแลหลัก แต่ว่าถ้าเกิดไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็จะเป็น สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ (สนร.) ไม่โดนปล่อยเคว้งหรอก 5555
Tips & Tricks
การเลือกหน่วยทุน
ณัฐ : หน่วยทุนก็จะเขียนไว้เลยว่า หน่วยทุนจะส่งเราไปเรียนคณะอะไร แล้วก็กลับมาทำงานที่ไหน
โจ้ : ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาชั่งใจเนอะ เพราะอย่างผมสมัคร ผมอยากเรียนวิทย์เคมี แต่ไม่มีหน่วยทุนเลย มีใกล้เคียงสุดก็วิศวะเคมีไม่ก็วัสดุศาสตร์ หลังจากเลือกพวกนั้นแล้วก็มากรองอีกขั้นนึงว่าเราต้องไปทำงานที่ไหน เป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยอะไรแบบนี้ (บางคนอาจจะมีปัจจัยเรื่องเรียนไม่ตรงสายแล้วจะเรียนไหวมั้ย หรือว่าสถานที่ที่ต้องกลับมาทำงานนั้นอยู่จังหวัดที่ไกลบ้าน ฯลฯ)
2. การเตรียมตัวสอบรอบแรก
ณัฐ : ข้อสอบข้อเขียนรอบแรก มีอยู่บนเว็บไซต์ย้อนหลังทุกปี ตั้งแต่ปีล่าสุดจนถึงย้อนหลัง 20 ปี แต่ไม่มีเฉลยนะครับ
โจ้ : เอ้า 55555 งั้นระดับความยากของมันก็คือ..ก็ข้อสอบจริงอะเนอะ แต่ว่าความยากมันจะยากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ ไป หรือความยากค่อนข้างจะคงที่?
ณัฐ : คิดว่ายากพอ ๆ กัน ถ้าทำข้อสอบย้อนหลังไปก็จะช่วยได้เยอะเลย
โจ้ : งั้นมีวิธีการเตรียมตัวของแต่ละวิชามั้ย
ณัฐ : มันเป็นข้อสอบวิธีทำใช่มะ เป็นเขียนตอบทุกข้อเลย ถ้าเป็นคณิตศาสตร์ก็แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องแสดงวิธีทำให้ละเอียด แต่วิทยาศาสตร์กลับเป็นเชิงเนื้อหาทฤษฎีล้วน ๆ เลย อย่างชีวะก็เติมคำเลย ฟิสิกส์จริง ๆ ก็คำนวณวิธีทำแหละ เคมีก็ทั้งทฤษฎีและคำนวณ
โจ้ : เอางี้ เทียบความยากกับที่เราเรียนที่โรงเรียน (กำเนิดวิทย์) อะ
ณัฐ : วิทยาศาสตร์ถ้าจำได้ก็ไม่ยากหรอก ทำได้แน่นอน, ส่วนคณิตศาสตร์ยากมากก ไปถามคนที่เป็นระดับโอลิมปิกก็ยังบอกว่าทำไม่ทันเลย (โห), อังกฤษยากกว่า O-NET นิดนึง แต่ไม่ยาก ไม่ยากขนาดนั้น, แล้วก็ไทย-สังคม อย่างข้อสอบทุนนี้ก็จะแยกเป็น ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แล้วก็หน้าที่พลเมือง ทุกปีข้อสอบจะเป็นแบบ ให้เขียนนโยบายพัฒนาประเทศ (ก็เป็นข้อสอบคิดวิเคราะห์เนอะ วิเคราะห์ปัญหา นำความรู้มาสังเคราะห์ เสนอวิธีแก้ปัญหา พิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ฯลฯ)
3. การสอบสัมภาษณ์
ณัฐ : มีรีวิว (ของคนอื่น) อยู่ในเน็ตนะ ไปหาอ่านได้ 555 อย่างแรกเลยคือเราต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าเราอยากได้ทุนนี้กรรมการมองออกนะ ว่าเราอยากได้ทุนนี้จริง ๆ มั้ย
โจ้ : ก็จริง ๆ ในมุมของกรรมการนะ ระหว่างคนที่มาสอบแบบไม่ได้อะไรมาก กับคนที่แสดงออกว่ามุ่งมั่นอยากจะได้ทุนนี้จริง ๆ กรรมการก็ต้องเลือกคนหลัง ให้คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อจะได้บุคลากรมาทำงานในอนาคต กรรมการก็จะสังเกตได้จากการพูดและการตอบคำถามว่า เราเตรียมตัวเตรียมใจมาเพื่อทุนนี้มั้ย
ณัฐ : แล้วก็เอาเสื้อกันหนาวไปด้วยนะ หนาวมาก (สอบที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ทั้งรอบสอบข้อเขียนด้วย) แล้วก็เตรียมตัว Portfolio ไปด้วย กรรมการจะเปิดอ่านด้วย จริง ๆ จะทำพอร์ตแบบไหนก็ได้นะ ณัฐทำไปแบบของรอบ 1 ที่ไม่เกิน 10 หน้า แต่จะทำเป็นปึกไปเลยก็ได้
โจ้ : ตอนเราสมัครมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นก็ไม่ได้ทำพอร์ตนะ ขี้เกียจทำ 555 แต่มีไว้ก็ดีครับ ได้ใช้ยื่นได้หลายอย่าง แล้วกรรมการเค้าเอาสิ่งที่เราเขียนในพอร์ตมาถามมั้ย
ณัฐ : มี ๆ อย่างของณัฐ เค้าก็ถามเรื่องที่ณัฐไปนำเสนอโครงงานที่ต่างประเทศ ณัฐก็อธิบายไปว่าไปนำเสนอโครงงานอะไร ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
โจ้ : สงสัยอีกอย่างนึง ตอนสัมภาษณ์ กรรมการมีถามเกี่ยวกับความรู้รอบตัว เหตุการณ์ปัจจุบันมั้ย
ณัฐ : อาจจะแล้วแต่คน ของณัฐไม่ถามนะ
โจ้ : สัมภาษณ์นานมั้ยครับ
ณัฐ : 1 ชั่วโมงต่อคน แต่ว่าแต่ละทุนก็จะมีรูปแบบการสัมภาษณ์ที่ต่างกัน อย่างทุนเล่าเรียนหลวงก็จะมีเข้าค่ายด้วย
โจ้ : มีคำแนะนำอะไรอีกมั้ยครับ
ณัฐ : ช่วงใกล้วันสัมภาษณ์ก็กินข้าวให้อิ่ม พักผ่อนให้เพียงพอ จะได้มีสติที่สุดตอนสัมภาษณ์ วันสัมภาษณ์มีของว่างช่วงพักเบรกด้วย กินให้เยอะ ๆ เลย 5555
4. การเลือกมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
ณัฐ : อันนี่อยากให้ทุกคนได้รู้ไว้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทุนนี้ก็ได้ สำหรับคนที่อยากจะไปเรียนที่อเมริกา บอกไว้ก่อนเลยว่า อเมริกาก็เรียนหนักและเครียดเหมือนประเทศไทย อย่างการบ้านก็เยอะมาก 5555
5. เงินทุนที่ได้รับ
ณัฐ : เอาจริง ๆ ทุนนี้ไม่ได้ให้เงินเยอะขนาดนั้น เพราะค่ากิน ค่าที่พักก็ต้องบริหารจากเงินเดือนที่ได้รับ ถ้าอยากได้เงินเยอะ ๆ ก็ต้องไปงานเสริมระหว่างเรียนด้วย ช่วงแรก ๆ ก็ต้องออกเงินเอง
โจ้ : สำหรับน้อง ๆ ก็ดูข้อนี้ไว้ดี ๆ นะครับ 5555
ณัฐ : ได้เงินเดือนละประมาณ 35,000 บาท ทุกประเทศเลย
โจ้ : ส่วนตัวคิดว่าอยู่ยากนะสำหรับ 35,000 บาทกับการใช้ชีวิตในประเทศใหญ่ ๆ
6. การเลือกมหาวิทยาลัย
ณัฐ : ถึงจะได้ทุนนี้แล้ว เราก็ต้องยื่นสมัครมหาวิทยาลัยเอง คะแนน Standardized Tests ก็ยังสำคัญ
โจ้ : ก็คือทุนแค่เป็นคนออกเงินค่าใช้จ่ายให้ แต่การเข้ามหาวิทยาลัยก็เหมือนคนอื่นปกติเลยที่ก็ต้องเลือกมหาวิทยาลัยตามความสามารถเรา อย่างสมัครอเมริกาก็ต้องใช้ Common Application
ณัฐ : ใช่ หลังจากเรียน Preparatory (ประมาณว่าเป็นการเรียนภาษาและปรับพื้นฐาน) เสร็จก็เป็นเวลาสมัครมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยในอเมริกาจะเปิดตอน Fall (ประมาณเดือนสิงหาคม)
ช่วงเวลาหลังจากยืนยันรับทุน (แถม ๆ )
โจ้ : เอาหล่ะ ทีนี้หลังจากเรายืนยันจะรับทุนนี้แล้ว ต่อไปจะเจอกับอะไรบ้างครับ อันนี้อยากรู้ ๆ
ณัฐ : ก็อย่างแรกก็คือเตรียมเอกสารอย่าง ปพ.1 คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ แล้วก็ใบรับรองจากครูด้วยถ้าเลือกจะไปอเมริกาหรือออสเตรเลีย แล้วก็ส่งไปให้ ก.พ. ครับ
โจ้ : อ๋อ งั้นหลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะบินไปเรียนต่อใช่มั้ยครับ
ณัฐ : ถ้ายึดตามปีอื่น ๆ ก็จะมีปฐมนิเทศแล้วก็ตรวจเอกสารต่าง ๆ ถ้าไม่เรียบร้อยก็ไปแก้ แต่ปีนี้พิเศษนี้หน่อยที่ไปปฐมนิเทศไม่ได้ ก็ต้องจัดปฐมนิเทศออนไลน์ แล้วก็จัดการเอกสาร มีเวลายาว ๆ ไปจนกว่าจะบินไป
โจ้ : ปีนี้พิเศษหน่อยที่มี COVID – 19 ใช่มะ แล้วจริง ๆ ต้องบินไปช่วงเดือนไหนอะ
ณัฐ : ถ้าปกติก็ไปตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนาแล้ว แล้วก็ไปเรียนปรับพื้นฐานจนถึงประมาณปลายเดือนธันวาคม แล้วก็กลับมาเพื่อยื่นสมัครมหาวิทยาลัย
โจ้ : กลับมา? กลับมาที่ไหนอะ?
ณัฐ: กลับมาไทยนี่ไง
โจ้ : เอ้า กลับมาทำไมอะ ก็ไปเรียนที่นู่นอยู่แล้ว ก็อยู่นู่นไปเลยสิ
ณัฐ : ก็ยังไม่ได้มหาวิทยาลัยไง ต้องกลับมาสมัคร
โจ้ : เดี๋ยวนะ ขอทวนความจำใหม่ ตอนยืนยันรับทุนเราก็เลือกประเทศแล้วใช่มั้ย
ณัฐ: ใช่
โจ้ : แล้วก็ได้ไปเรียน Preparatory ที่ประเทศที่เลือก
ณัฐ : ใช่ ยกเว้นถ้าเลือกแคนาดาก็ไปเรียนที่อเมริกา ถ้าเลือกนิวซีแลนด์ก็ไปเรียนที่ออสเตรเลีย
โจ้ : แล้วไม่อยู่ที่นู่นไปเลยอะ ก็สมัครมหาวิทยาลัยตอนอยู่ที่นู่นไปเลย 555
ณัฐ : ก็จริง ๆ ก็ยื่นสมัครมหาวิทยาลัยเหมือนคนทั่วไปเลยนะ ก็เตรียมคะแนนสอบ เตรียมเกรด
โจ้ : แล้วถ้าเราสมัครไม่ติดสักที่เลยอะ
ณัฐ : เค้าก็จะให้เราเรียนในไทย
โจ้ : คือเค้าให้ตังค์เราแน่ ๆ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถเราใช่มั้ยว่าจะสมัครติดที่ไหน
ณัฐ : ใช่
Q&A เพิ่มเติม
จำเป็นมั้ยครับที่ต้องเรียนถึงปริญญาเอกเลย ตอบ : แล้วแต่หน่วยทุนนะครับ ส่วนใหญ่จะเขียนว่าให้เรียนจนถึงปริญญาเอก อย่างต่ำก็ปริญญาโทครับ
แล้วอย่างค่าที่พักอาศัย ทางทุนมีให้มั้ย? ตอบ : ค่าที่พักอาศัยก็ต้องใช้เงินเดือนนั้นจ่ายเองเลยครับ ไม่ได้มีให้แยกมา
อยากเรียนหมอ ทุนกระทรวงวิทย์มีหน่วยทุนที่ให้ไปเรียนแพทยศาสตร์มั้ย ตอบ : ไม่มีครับ จะมีใกล้เคียงก็พวกเทคนิคการแพทย์ ชีวะการแพทย์
รวม Link http://scholar2.ocsc.go.th เว็บไซต์หลักของทุนสำนักงาน ก.พ. ทั้งประกาศรับสมัคร ข้อสอบเก่าย้อนหลัง ฯลฯ
Comments