->ข้อมูลทั่วไป
Mahidol University หรือมหาวิทยาลัยมหิดลถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 252 ของโลก โดยอ้างอิงจาก QS World University Rankings 2021 โดยวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอุดมการณ์ที่จะขัดเกลาบัณฑิตให้มีความสามารถที่จะเป็นมืออาชีพในระดับนานาชาติ พร้อมกับปลูกฝังการเป็นพลเมืองที่ดีของโลกที่มีความรู้และประสบการณ์ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในอนาคต
School of Materials Science and Nano Engineering (SCME) เป็นหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยมหิดล (International, B.Sc. Program: SIM) ที่รับนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนในไทย และนักเรียนต่างชาติเพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติในสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน อีกทั้งยังมอบโอกาสทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศให้กับนักศึกษาในคณะมากมาย
->รายวิชาที่เปิดสอน
International, B.Sc. Program (SIM) หรือคณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นเปิดสอนในระดับปริญญาตรี 4 สาขา ได้แก่
1. Biomedical Science
2. Bioresources and Environmental Science
3. Materials Science and Nano Engineering
4. Bioinnovation
โดยหลักสูตรทั้งหมดนี้จะเป็น dual degree หรือก็คือการเรียน 3 ปีในมหาวิทยาลัยมหิดล และเรียนปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาของหลักสูตร Materials Science and Nano Engineering จะเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเวลา 3 ปีแรก และในปีที่สี่จะไปเรียนที่ University of Technology Sydney ประเทศออสเตรเลีย
ในแต่ละโปรแกรมจะทำการเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนที่จะต่อยอดไปทางด้านวิจัยในต่างประเทศด้วยการสอนวิทยาศาสตร์หลัก ๆ 2 หลักสูตร ที่สามารถนำมาบูรณาการร่วมกันในวิชาชีพได้ ต่อหนึ่งโปรแกรมเพื่อตอบโจทย์การศึกษาแบบสหวิทยาการอีกทั้งยังสนับสนุนนักศึกษาให้ทำการค้นคว้าตามความสนใจของตัวเอง ซึ่งเหมาะกับผู้ที่สนใจจะเรียนวิทยาศาสตร์ที่อยากศึกษาต่อในต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://sim.sc.mahidol.ac.th/
ช่วงเล่าประสบการณ์
->แนะนำตัวผู้เขียน
สวัสดีครับ พี่ชื่อเนติ เนตรเกื้อกูล ชื่อเล่นชื่อแชมป์ครับ จบการศึกษาจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์รุ่นที่ 3 พี่ได้ทำการสมัครโปรแกรม SCME: Materials Science and Innovation หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปีที่แล้ว หรือก็คือสำหรับปีการศึกษา 2563 ผ่านระบบ TCAS รอบ 1 (Portfolio) และผ่านการคัดเลือกรอบ portfolio แต่ด้วยเหตุจำเป็นจึงต้องสละสิทธิ์การสอบสัมภาษณ์ครับ เนื่องจากพี่มีประสบการณ์ในการสมัครแค่รอบ portfolio ดังนั้นจึงจะขอมารีวิวละเอียดแค่รอบนี้นะครับ
->ทำไมถึงต้องเลือก SCME
เหตุผลหลัก ๆ เลยคือ โปรแกรมนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติที่มี dual degree กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ที่ให้โอกาสและประสบการณ์ในการเรียนรู้และการทำวิจัยจากมุมมองของนานาชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับน้อง ๆ หลายคนที่ยังไม่แน่ใจในเรื่องการศึกษาต่อต่างประเทศ และอยากลองดูเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อน และเหตุผลที่สองคือ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นมีบุคลากร อุปกรณ์และสื่อการสอนที่มีคุณภาพ สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการศึกษาที่ดีไม่แพ้ที่ใดในโลกแน่นอนครับ
->การสมัคร
1. การสมัครเข้า SCME จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ และจะมีรอบแบ่งย่อยไปในประเภทนั้น ๆ ดังนี้
1.1. Direct Admission (การรับตรง)
1.1.1 Early Direct Admission
1.1.2. Regular Direct Admission
- 1st Round: Portfolio
- 2nd Round: Quota
- 3rd Round: Direct Admission
- 4th Round: Direct Admission
1.2. TCAS (การรับผ่านระบบกลาง TCAS)
1.2.1 1st Round: Portfolio
1.2.2 2nd Round: Quota
1.2.3 3rd Round: Direct Admission
ภายในการสมัครแต่ละรอบจะคิดคะแนนตามคุณสมบัติของผู้สมัครที่แตกต่างกันไป
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอบการรับสมัครได้ที่ https://sim.sc.mahidol.ac.th/admission-timeline/
2. รีวิวละเอียด TCAS 1 1st Round: Portfolio
สำหรับการสมัครในรอบนี้ สิ่งหลัก ๆ ที่น้องต้องเตรียมมีดังนี้ครับ
2.1. Transcript
ใบแสดงผลการเรียน ที่ออกให้โดยโรงเรียน โดยน้อง ๆ จะต้องมีเกรดเฉลี่ยหรือ GPAX ขั้นต่ำ 2.50 สำหรับคณะ Materials Science and Nanoengineering ครับ
2.2. Graduation Certificate (Optional)
ใบแสดงหลักฐานการจบการศึกษา ที่ออกให้โดยโรงเรียนสำหรับผู้ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปแล้ว ส่วนน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ในการสมัครครับ
2.3. Portfolio
แฟ้มสะสมผลงานที่รวบรวมผลงานทางวิชาการ กิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวกับชุมชนและจิตอาสา ความสามารถในการบริหารและการจัดการ ประสบการณ์ในด้านอื่นนอกจากการเรียน ยกตัวอย่างเช่น งานศิลป์ งานออกแบบ หรือสื่อต่าง ๆ โดยตัวแฟ้มสะสมผลงานนั้นจะต้องมีขนาดหน้ากระดาษเท่ากับกระดาษ A4 สามารถทำได้สูงสุด 10 หน้า ไม่รวมหน้าปกและสารบัญ และจะต้องส่งผ่านการอัพโหลดในรูปแบบไฟล์ PDF เข้าไปในเว็บไซต์การสมัครครับ
ตัวอย่างเนื้อหาในพอร์ทที่พี่ได้ใส่ไปก็เป็นพวกผลงานทางการแข่งทางวิชาการโครงงานวิจัยที่เกี่ยวกับวิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม ผลงานเกี่ยวกับงานบริหารและความเป็นผู้นำจากการที่เคยเป็นกรรมการนักเรียนของโรงเรียนและพวกผลงานทางด้านดนตรี กีฬาและจิตอาสาครับ พี่แนะนำว่าถ้าใส่ CV (Curriculum Vitae) ไว้หลังจากหน้าปกสำหรับใส่พวกเกรดเฉลี่ย คะแนนจากการสอบ Standardized Test ต่าง ๆ และก็ lab skills เพื่อเป็นการสรุปความสามารถของตัวเองไว้คร่าว ๆ ก็เป็นตัวเลือกที่จะสร้างความประทับใจแรกในความสามารถของน้องให้กับกรรมการได้ดีครับ และถ้าต้องการ น้อง ๆ สามารถทักมาขอดูตัวอย่างพอร์ทของพี่ได้ตามช่องทางติดต่อที่สะดวกได้เลยครับ
2.4 Interview
การสัมภาษณ์ ในส่วนนี้พี่จะไม่ขอพูดถึงโดยละเอียด เนื่องจากพี่ไม่ได้ไปสอบสัมภาษณ์ แต่ก็ขอให้น้อง ๆ เป็นตัวของตัวเองและสร้างความประทับใจให้กับกรรมการได้เยอะ ๆ นะครับ ^^
สามารถดูรายละเอียดของคะแนนสอบและเอกสารที่ต้องการได้ในลิงก์นี้เลยครับ
Admission Requirements https://sim.sc.mahidol.ac.th/prospective-students/admission-requirement/
3. เอกสารที่ใช้สำหรับการสมัคร
3.1. รูปถ่าย
รูปถ่ายหน้าตรงในชุดนักเรียนหรือชุดสุภาพ
3.2. เอกสารแสดงผลการเรียน (Transcript)
หรือเอกสารเทียบเท่าของสายวิทย์-คณิต (ในกรณีที่ไม่ได้ศึกษาในหลักสูตรไทย) ออกให้โดยทางโรงเรียน
3.3. เอกสารที่แสดงถึงสถานะการเป็นนักเรียน
ออกให้โดยทางโรงเรียน
3.4. เอกสารยืนยันตัวตน
บัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางของผู้สมัคร (หนังสือเดินทางสำหรับผู้สมัครที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น)
3.5. สำเนาทะเบียนบ้าน
สำหรับผู้สมัครที่เป็นคนไทยเท่านั้น
3.6. คะแนนการสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ (Optional)
เอกสารแสดงคะแนนสอบที่ออกให้โดยทางผู้รับผิดชอบการสอบ
3.7. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
ใช้ขนาดหน้ากระดาษเท่ากับกระดาษ A4 สามารถทำได้สูงสุด 10 หน้า ไม่รวมหน้าปกและสารบัญ ขนาดไฟล์ไม่เกิน 10 MB ในสกุลไฟล์ .pdf
3.8. ค่าสมัคร
-วิธีการสมัคร
ระบบการสมัครของ SCME จะเป็นการสมัครผ่าน Online Application ของทางสถาบัน ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1. เข้าไปยังเว็บไซต์ https://sim.sc.mahidol.ac.th/online-application/หรือสามารถเข้าได้ผ่านเว็บไซต์ของสถาบัน https://sim.sc.mahidol.ac.th/
2. ทำการสมัครบัญชีและเข้าไปในระบบ จะเจอหน้าที่เป็นแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลและพื้นที่สำหรับอัพโหลดเอกสารภายใต้หัวข้อต่าง ๆ ให้ทำการกรอกข้อมูลและอัพโหลดเอกสารที่จำเป็นให้เรียบร้อย
4. ระบบจะทำการบันทึกข้อมูลและเอกสารที่กรอกลงไปโดยอัตโนมัติ แต่เพื่อความมั่นใจ ควรจะตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ทุกครั้งก่อนที่จะทำการกรอกในครั้งต่อไป และตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างก่อนที่จะทำการส่งด้วยครับ
5. ชำระเงินค่าสมัครเป็นอันเสร็จสิ้นการสมัครครับ
หมายเหตุ สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะสมัครในทุกรอบผ่าน TCAS จะต้องทำการสมัครบัญชีของระบบ TCAS ด้วยนะครับ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.mytcas.com/ซึ่งต้องยืนยันสิทธิ์ภายในระบบ TCAS เพิ่มเติมจากการยืนยันกับทางสถาบันอีกด้วย และไม่ต้องเป็นห่วงครับ ในเวลาที่ต้องทำอะไรที่สำคัญเกี่ยวกับการสมัคร เช่น การยืนยันสิทธิ์ การชำระเงินต่าง ๆ ทางสถาบันจะส่งอีเมลมาเพื่อแจ้งเตือน แต่ในทางที่ดีก็ควรตรวจสอบเรื่องวันที่และเวลาที่แน่นอนไว้ด้วยครับ
-Tips & Trick
- พี่แนะนำว่าให้ทำ Portfolio ของน้อง ๆ ให้มี design ที่โดดเด่นและไม่เหมือนใคร และเหมาะกับการนำเสนอผลงานในรูปแบบต่าง ๆ เหมือนกับว่าทำให้ Portfolio ของเรานั้นเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของเราเลยก็ได้ จะเป็นวิธีที่ดีสำหรับการสร้างความประทับใจให้กับกรรมการได้ด้วยครับ
- เพิ่มหน้า CV (Curriculum Vitae) ใน Portfolio เพื่อเป็นการสรุปความสามารถของน้องคร่าว ๆ ภายในหน้าเดียว ควรจะออกแบบให้สะดวกในการอ่านและใช้ข้อมูลที่ดึงดูดความสนใจของกรรมการ
- น้องสามารถเขียน Statement of Purpose ที่แสดงที่ความสนใจ ความหลงใหล และเหตุผลที่ต้องการจะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ใส่ลงไปใน Portfolio ได้เหมือนกันครับ
- พี่แนะนำว่าให้ใส่ผลงาน กิจกรรมและโครงงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่น้องสนใจจะสมัครโดยตรง รวมทั้งการเข้าค่ายอบรมในสาขาวิชานั้น ๆ ไปใน Portfolio จะเป็นประโยชน์ต่อการสมัครมาก ๆ เลยครับ
- อย่าลืมเตรียม Portfolio เกียรติบัตร และเอกสารตัวจริงกับสำเนาของทุกอย่างที่ใส่ลงไปใน portfolio ไปในวันที่ไปสอบสัมภาษณ์เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้อง
->ช่วงรอผลตอบรับการเข้าศึกษาต่อ
สำหรับผลของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบ Portfolio และมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ก็จะถูกประกาศออกมาภายในเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังส่งอีเมลมาเพื่อเป็นการยืนยันเป็นการส่วนตัวอีกด้วยครับ และหลังจากนั้นอาจารย์ผู้รับผิดชอบคณะต่าง ๆ ก็จะติดต่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์มาทางโทรศัพท์ และทำการสร้างกลุ่มรวมนักเรียนที่มีสิทธิ์สัมภาษณ์เพื่อแจ้งข่าวสารและเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนถาม-ตอบไปในตัวครับ ส่วนผลการคัดเลือกรอบที่สองหรือก็คือผลการตอบรับเข้าศึกษาต่อนั้นจะถูกประกาศเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเช่นกัน และทางสถาบันจะส่งอีเมลมาด้วยเพื่อยืนยันว่าน้องได้รับการตอบรับเข้าศึกษา พร้อมกับเอกสารการยืนยันสิทธิ์และรายละเอียดของการดำเนินการขั้นถัดไปครับ พี่คงเขียนเล่าจากประสบการณ์ได้แค่นี้ เนื่องจากพี่ได้สละสิทธิ์ตั้งแต่รอบสัมภาษณ์ แต่ถ้ามีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมหรือต้องการคำแนะนำก็สามารถติดต่อพี่ได้ตามช่องทางที่สะดวกได้เลย เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ สู้ ๆ ^^
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
หน้าหลักของมหาวิทยาลัย
หน้าหลักของ SIM
Facebook Page ของ SCME
Requirements ในการสมัคร
ระบบสำหรับการสมัคร
หมายเหตุ ข้อมูลในบทความนี้อ้างอิงมาจากการสมัครเข้าศึกษาต่อสำหรับปีการศึกษาที่ 2563 (Early Admission Round 2020, TCAS Round 1) ซึ่งพี่ได้ทำการสมัครในปลายปีพ.ศ. 2562 เพื่อความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูล ทางที่ดีที่สุดควรที่จะติดตามข่าวสารและข้อมูลจากทางสถาบันในแต่ละปีด้วยครับ
Comments