top of page
Writer's pictureNatthanan Kongchu

Kyoto University: Kyoto International Undergraduate Program (iUP)

Updated: Mar 6, 2021

ข้อมูลทั่วไปของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเกียวโต (京都大学: Kyoto University) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เกียวได” เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่เมืองเกียวโตนั่นเอง 

มหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำโดยเฉพาะด้านการวิจัยอันดับต้น ๆ ของโลกเลย ติด ranking ระดับ Top 50 ของโลก, Top 20 ของเอเชีย, และสูสีกันกับ The University of Tokyo แข่งกันเป็นอันดับ 1 มาตลอด (อ้างอิงจาก QS University Rankings)


โปรแกรมที่เปิดรับสมัคร

ถ้าเราจะไปสมัครด้วย Track เดียวกับคนญี่ปุ่นก็อาจจะลำบากไปหน่อยเนอะ เพราะเราก็ต้องมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นไปสอบแข่งขันกับคนญี่ปุ่น แต่นักเรียนต่างชาติอย่างเรา ๆ ยังมีหวังครับ เพราะทางมหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรสำหรับนักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะ สมัครได้ตั้งแต่ยังไม่ต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และนี่ก็เป็นโปรแกรมที่ผมเลือกไปศึกษาต่อนั่นเองกับ Kyoto International Undergraduate Program (iUP)

สำหรับโปรแกรม iUP เป็นโปรแกรมระดับ Undergraduate/ปริญญาตรี รับนักศึกษาจากทั่วโลก เป็นโปรแกรมกึ่ง ๆ จะอินเตอร์ฯ เพราะสองปีแรกเราจะได้เรียนเป็นคลาสภาษาอังกฤษ ส่วนปี 3-4 ทักษะภาษาญี่ปุ่นเราก็น่าจะแข็งแกร่งขึ้นแล้ว เรียนคลาสที่เป็นภาษาญี่ปุ่นได้แล้วล่ะนะ (555+) ข้อดีของโปรแกรมนี้คือมีหลายคณะหลายสาขาให้เลือกได้ตั้งแต่ตอนสมัครเลย เช่น Faculty of Science, Faculty of Engineering, Faculty of Law, และอื่น ๆ ถ้าอยากดูคณะเพิ่มเติมเข้าไปดูตามลิงก์ https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/about/faculties.html

นอกจากเราจะได้เรียนความรู้วิชาการและมีเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการวิจัยในมหาวิทยาลัยระดับ Top Class ด้วยบรรยากาศแบบนานาชาติ หลังจากจบการศึกษาก็ยังมีโอกาสในการหางานในบริษัทดัง ๆ ในญี่ปุ่นด้วย ถ้าใครอยากไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น แนะนำว่าไม่ควรพลาดครับ อยากให้ลองสมัครดู


ทุนการศึกษา

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าโปรแกรมนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่ 6 เดือนแรกที่จะเป็น Preparatory Course ที่เราจะได้เรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างเข้มข้นพร้อมกับวิชาพื้นฐานสำหรับคณะที่จะเข้า จะได้การยกเว้นค่าใช้จ่ายดังนี้

  1. Admission fee 282,000 yen

  2. Tuition fee 525,800 yen ต่อปี

  3. Living Expense  สูงสุดถึง 120,000 yen/เดือน เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนด้วย (หูวววว) หลังจากเราจบคอร์สนี้ก็จะสอบเพื่อขึ้นปี 1 ตามคณะที่เลือกไว้

ต่อไปจะเป็น 4 ปีที่เราจะเป็นนักศึกษาปริญญาตรีปกติ ก็ยังมีทุนต่อเนื่องให้อีกเช่นเคย

  1. Admission fee 282,000 yen

  2. Tuition fee 525,800 yen ต่อปี

  3. Living Expense สูงสุดถึง 120,000 yen ต่อเดือนก็ยังได้นะ 


ลืมบอกว่าเราจะได้อยู่หอพักมหาวิทยาลัยสำหรับ 12 เดือนแรกซึ่งค่าหอพักเทียบกับการหอพักนอกมหาลัยเองแล้วก็ถูกมาก ๆ (ค่าเช่าหอนอกมหาวิทยาลัยของประเทศญี่ปุ่นเรียกว่าโหดร้ายเลยทีเดียว TT) 

อ่านเพิ่มเติมเรื่องทุนได้ที่นี่ https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/campus-life/

 

แนะนำตัวผู้เขียน

สวัสดีครับ ผมชื่อณัฐนันท์ คงชู เรียกว่าโจ้ละกันครับ ปีนี้ (2020) เพิ่งจบม.ปลายจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์และเลือกไปศึกษาต่อที่ Kyoto University ประเทศญี่ปุ่น ในโปรแกรม Kyoto University International Undergraduate Program วันนี้ก็จะมาเล่า/รีวิวจากประสบการณ์ตรงตั้งแต่ เริ่มหาข้อมูลเอง สมัครเอง ลุ้นผลเอง ตื่นเต้นเอง ไปจนถึงเลือกไปตัดสินใจไปเรียนต่อที่นี้ มาดูกันเลยครับ 

ทำไมถึงต้องเลือกที่นี่

เหตุผลแรก เพราะเป็นประเทศญี่ปุ่น

เหตุผลที่สอง เพราะเป็น “เมืองเกียวโต”

555555555 เหตุผลนั้นจริง ๆ ครับ เพราะผมก็ติดที่มหาวิทยาลัยอื่นของญี่ปุ่นด้วย แต่ที่เลือกเกียวโตเพราะว่า ภาพจำของเราคือเมืองเกียวโตจะมีความธรรมชาติแบบต้นไม้ใบหญ้า กับความเป็นวัฒนธรรมเก่า ๆ เช่นพวกปราสาท เราก็ชั่งใจแล้วว่าถ้าให้เลือกระหว่างเมืองแนว Urban กับ Nature เราชอบ Nature มากกว่า (เหตุผลค่อนข้างจะส่วนตัวหน่อย ๆ) แต่ถ้าจะให้แนะนำคนอื่นว่าทำไมต้องเลือกที่นี่โปรแกรมนี้ ก็เพราะ

  1. มีทุนให้ (อันนี้สำคัญมากสำหรับเรานะ ถึงค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าเมื่อเทียบกับฝั่งยุโรป อเมริกา แต่ก็แพงกว่าเรียนต่อในประเทศไทยหลายเท่าเลย)การได้ทุนก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เราต้องควักกระเป๋าตังค์เองไปได้เยอะเลย

  2. เรียนเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความที่ในชีวิตประจำวัน คนญี่ปุ่นแทบจะไม่พูดภาษาอังกฤษกันเลย เราก็กลัวว่าถ้าเราไปเรียนภาคญี่ปุ่นล้วน สกิลภาษาอังกฤษเราก็อาจจะถดถอยได้ เสียดายแย่เลย แต่ถ้าเรียนโปรแกรมอินเตอร์ฯ ตอนเรียนเราก็ได้ใช้ภาษาอังกฤษ นอกเวลาเรียนก็ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่น win-win ทั้งคู่

  3. คุณภาพมหาลัย เรียกว่าไม่ต้องห่วง ระดับ Top ของญี่ปุ่น เอเชีย และของโลกเลย สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ครบครัน มี Professorจากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้รับรางวัลโนเบลถึง 11 ท่าน ดังนั้นเรื่องวิจัยสุดยอดแน่นอน

 

การสมัคร

สำหรับโปรแกรมนี้ (รวมถึงโปรแกรมอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย) จะใช้ระบบ Online Application ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางที่จะให้เราไปกรอกข้อมูลการสมัคร อัพโหลดเอกสาร และรับอีเมลแจ้งเตือนจากทาง Admission Office เมื่อถึงช่วงเวลาเปิดรับสมัคร เราก็สามารถเข้าไปใช้ Online Application ตั้งแต่สมัคร 1st stage ไปจนถึงการประกาศผล Final แล้วว่าเราได้รับการตอบรับเข้าเรียน

การสมัครก็จะประกอบไปด้วย 2 รอบ ซึ่งก็คือ

1st stage Screening test เป็นรอบที่ทางมหาลัยจะพิจารณาจากเอกสารที่เราส่งไปทั้งหมด ได้แก่ เกรดใน Transcript, คะแนน Standardized Tests (IELTS, SAT, EJU, etc.), Essay, Recommendation letter (จะแนะนำเรื่องการเตรียมเอกสารนี้ในย่อหน้าถัด ๆ ไปครับ) 

2nd stage Interview test รอบนี้จะเป็นการสัมภาษณ์ครับ โดยเราจะได้สัมภาษณ์กับคณะกรรมการจากทางโปรแกรม iUP สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ (มีแนะนำเทคนิคการเตรียมตัวสัมภาษณ์นะ) 

หลังจากผ่านทั้ง 2 รอบนี้ไปได้ ก็เหลือแค่รอลุ้นผลแล้วครับ (จะติดมั้ยนะ ลุ้นๆๆๆ)

สำหรับขั้นตอนการสมัครอย่างละเอียด แนะนำให้อ่าน Application Guideline ของแต่ละปี ซึ่งจะอัพเดตช่วงเดือน ก.ค. ของปี อย่าง October 2020 Enrollment ก็จะอัพเดตช่วง July 2019 

ลองเข้าไปอ่านได้ที่ link นี้ครับ https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/apply/


ช่วงเวลาที่เปิดรับสมัคร

จะขออิงตามรอบ October 2021 Enrollment ที่น้อง ๆ รุ่นถัดจากผมจะสมัครนะครับ

อ้างอิง: Application Guidelines for October 2021 Enrollment

นี่เป็นขั้นตอนคร่าว ๆ สำหรับช่วงเวลาการสมัคร ก็คือเราจะสมัครตอนอยู่ ม.6 เทอม 2 (พี่ลองเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ COVID – 19 แล้วก็พบว่ากำหนดการณ์ของปีนี้ไม่ได้ต่างจากของปีที่แล้วไปเท่าไหร่ครับ ใกล้เคียงกัน)


เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัคร


สำหรับเอกสารที่ต้องใช้อาจจะเยอะสักหน่อย แต่ไม่วุ่นวายมากครับ ทุกอย่างต้องเป็นภาษาอังกฤษนะครับ (อิงตามปีรอบ October 2021 enrollment เช่นเคย)

  1. Digital identification photograph ก็คือรูปถ่ายชุดนักเรียน สแกนเก็บเอาไว้อัพโหลด

  2. Copy of passport พาสปอร์ตหน้าข้อมูล สแกนเก็บไว้ครับ

  3. Application fee payment certificate Or Bank remittance certificate หลักฐานยืนยันว่าเราได้จ่ายค่าสมัครแล้ว (ขั้นตอนการจ่ายจะงง ๆ นิดหน่อยครับ ต้องลองไปอ่านใน Application Guideline ดูนะ คล้าย ๆ กับจ่ายเงินซื้อของออนไลน์แล้วเราจะได้ใบเสร็จเป็นไฟล์ PDF เก็บไว้ เอาไฟล์นี้แหละครับไปอัพโหลด อ้อ ในกรณีที่จ่ายผ่านบัตรเครดิต/เดบิตน่ะครับ จะสะดวกกว่าโอนผ่านธนาคาร)

  4. School Transcript ใบเกรด (ปพ. 1) ที่เราขอจากฝ่ายทะเบียนของโรงเรียนนะครับ (เป็นภาษาอังกฤษนะ) ตอนสมัครเราอยู่ ม.6 เทอม 2 ก็เท่ากับว่าเรามีเกรด 5 เทอมไว้ยื่นใช่มั้ยครับ (ปล. ผมเคยใช้เกรดแค่ 4 เทอมยื่นก็ได้นะครับ ไม่มีปัญหา แต่พอทางมหาวิทยาลัยขอให้ส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ ก็เอาที่เป็น 5 เทอมแล้วส่งไปครับ)

  5. Certificate of Expected Graduation ใบคาดว่าจะจบการศึกษา ขอจากฝ่ายทะเบียนโรงเรียน เป็นภาษาอังกฤษครับ

  6. Evaluation form B อันนี้ก็คือ Recommendation letter ครับที่เราจะให้คุณครูเขียนให้ โดยทางมหาวิทยาลัยจะส่งแบบฟอร์มไปให้คุณครูกรอก เราจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง รู้อีกทีแค่ว่าอาจารย์อัพโหลดให้เราแล้ว

  7. English proficiency test results ผลสอบ IELTS (ขั้นต่ำ 6.5), TOEFL (ขั้นต่ำ iBT 90, PBT: 580)  อัพโหลดเข้าระบบเช่นกัน

  8. Standardized test results ผลสอบพวก SAT, SAT Subjects, ACT, EJU ก็อัพโหลดเข้าระบบไปด้วยครับ สามารถไปดูได้ใน Application Guideline ครับว่าสามารถใช้คะแนนอะไรได้บ้าง

  9. Essay เรียงความตามหัวข้อที่มหาลัยกำหนดครับ โหลด Essay form มาเป็นไฟล์ word พิมพ์เสร็จก็เซฟแล้วก็อัพโหลด (มีเทคนิคการเขียน Essay ด้วยนะ อ่านต่อ ๆ)

นอกจากนี้ก็ยังมีเอกสารที่ไม่ได้ระบุไว้แต่ผมแนะนำให้เตรียมไว้เช่น 

10. พวกเกียรติบัตรไปสอบแข่งขันต่างๆ โอลิมปิก สอวน. นำเสนอโครงงานวิจัย หรือก็พวกเกียรติบัตรกิจกรรมจิตอาสาพวกนี้ก็สำคัญนะครับ แล้วก็รูปถ่ายตอนที่เราไปทำกิจกรรมด้วย ไปขุดมาครับ 5555 เอาไว้ใช้ได้ เหมือนเราทำ portfolio ครับ (แต่ถ้าขี้เกียจทำ portfolio ทั้งเล่มก็ทำแค่ส่วน Extracurricular Activities / Achievement / Competition / Leadership Activities/ Voluntary Activities/ Hobbies ทำง่าย ๆ เลยครับ อย่างตัวอย่างของผมก็ไม่ได้เน้นความสวยเลย แค่เขียนอธิบายกับมีรูปถ่ายก็เพียงพอแล้ว)

เอกสารเหล่านี้แนะนำให้เตรียมให้เสร็จสรรพไว้ก่อน พอเปิดระบบจะได้อัพโหลดเลย แล้วก็เสร็จ ถ้าเตรียมเอกสารช่วงเปิดรับสมัครอาจจะไม่ทันเอานา แล้วก็เก็บเอกสารไว้กับตัวดี ๆ นะครับ เพราะถ้าเราผ่าน 1st stage screening test ไปได้ ทางมหาวิทยาลัยอาจจะขอให้เราส่งเอกสารพวกนี้บางอันไปยังที่อยู่มหาวิทยาลัยที่ประเทศญี่ปุ่นเลย ผ่านทางไปรษณีย์หรือบริการขนส่งเอกชนก็ได้ครับ (ควรเลือกการส่งที่เราสามารถตรวจสอบสถานะพัสดุได้ด้วย เพื่อความชัวร์)


วิธีการสมัคร

สมัครออนไลน์ใช้เวลาไม่นานครับ มีขั้นตอนดังนี้

  1. เข้าไปที่หน้าเว็บ https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/apply/ เพื่อเข้าสู่ Online Application System

  2. หลังจากสมัคร Account แล้วก็ Log in เข้าไปเลยย

  3. เราจะเห็น 3 ปุ่ม ได้แก่

a. Message(s) from admission office เป็นส่วนที่ทางมหาวิทยาลัยจะส่งข้อความทั้งแจ้งเตือนแล้วก็ประกาศผลไว้ตรงนี้ครับ (จะมีอีเมลเข้าไปยังเมล์ที่เราใช้สมัครด้วยนะ)

b. Application ตรงนี้เราไว้กรอกข้อมูลต่าง ๆ ครับ เดี๋ยวจะมาเน้นตรงนี้นะ

c. Document upload เอกสารต่าง ๆ ก็จะมาอัพโหลดตรงนี้ครับ


4. จะเน้นกันที่ปุ่ม Application ครับ จะแบ่งเป็นหน้าย่อย ๆ ประมาณ 10 หน้า เป็นส่วนที่ให้เรากรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา คะแนน standardized ต่าง ๆ ฯลฯ

5. ปุ่มสุดท้าย Document Upload เป็นส่วนที่ให้เราอัพโหลดเอกสารทุกอย่างที่ได้บอกไว้ข้างบนครับ จะเป็นช่องให้อัพโหลดแยกของแต่ละอันเลย 

6. เสร็จสิ้นทุกอย่างแล้วครับ ถ้าเรากรอกข้อมูลครบ อัพโหลดเอกสารครับ จะขึ้นข้อความว่า complete หน้าปุ่มทั้งสอง ถ้าขึ้นข้อความ complete ทั้งสองอันก็แปลว่าเรียบร้อยแล้ว รอประกาศผลได้เลย

ปล. ทั้ง Application และ Document Upload ไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จรวดเดียวนะครับ สามารถกดปุ่ม save เพื่อบันทึกส่วนที่ทำเสร็จแล้วไว้ แล้วค่อยมาเติมส่วนที่เหลือได้เรื่อย ๆ ครับ ในหน้าเว็บข้อ 1 ก็จะมี User Manual อย่างละเอียดให้เลยครับ

 

Tips & Tricks


  1. การเตรียมคะแนนสอบ

อันนี้จะค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะครับว่าจะใช้คะแนนอะไรยื่นบ้าง แต่จะขอแนะนำว่าเราควรจะมีคะแนน “ที่พอใจ” ไว้ในมือภายใน ม.6 เทอม 1 แล้ว เตรียมพร้อมสำหรับการสมัคร อันที่เปิดสอบบ่อย ๆ อย่าง  IELTS ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่อย่าง SAT Subject ที่ปีนึงเปิดสอบไม่กี่ครั้ง เราก็ต้องคิดล่วงหน้า (ตั้งแต่ตอนอยู่ ม.5 เลย) ว่าจะสอบรอบเดือนไหนดี จะได้มีคะแนนทันใช้ อย่าง EJU เนี่ยเปิดสอบปีละ 2 ครั้ง รอบกลางปีกับปลายปี เราก็จะมีโอกาสสอบไม่กี่ครั้งเอง ก็ต้องเตรียมตัวสอบไปให้ดี ๆ ด้วยนะครับ อ่านหนังสือ ฝึกทำโจทย์ (ที่สำคัญ ยิ่งสอบบ่อยยิ่งมีค่าใช้จ่ายเยอะนะครับ ไม่ใช่ถูก ๆ ด้วย 555)


2. Extracurricular Activities

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แนะนำให้มีครับ เพราะชีวิตเราก็ไม่ได้มีแต่เรียนเนอะ ต้องเก่งรอบด้านด้วย ก็ทำกิจกรรมต่าง ๆ บ้าง มันจะแสดงถึงทักษะด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนในห้อง เช่น ความเป็นผู้นำและการทำงานร่วมกับผู้อื่น งานอดิเรกกีฬา ภาษา ดนตรี ซึ่งมาเร่งทำตอนใกล้จะสมัครก็คงลำบากแย่เลย ควรเก็บสะสมมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ขึ้น ม.4 เลยครับ แล้วพอเราเอากิจกรรมต่าง ๆ มารวมเป็นเล่มหรือเป็น portfolio เนี่ย เขียนแค่ว่าเราทำอะไรบ้างอาจจะไม่พอครับ เราต้องอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ทำไมเราถึงทำกิจกรรมนั้น? ทำอย่างไร? ทำแล้วเราเรียนรู้อะไรบ้าง? พยายามใส่รายละเอียดลงไป


3. การเขียน Essay

Essay เป็นอีกสิ่งที่เราควรให้เวลากับความพยายามกับมันเยอะ ๆ เพราะมันเป็นเหมือนการสัมภาษณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับ Passion และทัศนคติของเรา คำถามจะเป็นประมาณว่า ให้เราแนะนำตัวเอง ทำไมเราอยากถึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ ฯลฯ

ผมแนะนำเคล็ดลับบางอย่างเพื่อให้ Essay เราออกมาดีที่สุดนะ

  • อย่าไปเร่งรัดกับมันมาก ทำไปเรื่อย ๆ (แต่ให้ทันเดดไลน์ด้วยนะ) วันนี้อาจจะเขียนได้สัก  2 ย่อหน้า พรุ่งนี้ก็ค่อยมาเขียนย่อหน้าที่ 3 ต่อ ถ้าคิดไม่ออก นั่งเค้นไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรครับ


  • วางเค้าโครงการเขียนให้ดี ย่อหน้าละ 1 ประเด็น ที่สำคัญต้องตอบให้ตรงคำถามด้วยนะ ตัวอย่างเช่น ย่อหน้าที่ 1 แนะนำตัวเอง ย่อหน้าที่ 2 อธิบายว่าทำไมถึงอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ย่อหน้าที่ 3 อธิบายทำไมถึงอยากไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ และอื่น ๆ ตามที่โจทย์ถาม


  • เขียนให้กระชับ มีใจความสำคัญ 1 อย่างก็พอ แล้วที่เหลือเป็นเหตุผลสนับสนุน อย่าเขียนกว้าง ๆ เกินไป ให้เจาะรายละเอียดไปเลยครับ เช่น แทนที่จะบอกแค่ว่าประเทศญี่ปุ่นเหมาะสำหรับนักศึกษาต่างชาติให้ไปเรียนต่อ ให้ใส่รายละเอียดลงไปเลยว่าทำไมถึงเหมาะ ค่าครองชีพไม่แพงเทียบกับฝั่งยุโรป, มีทุนการศึกษาให้จากทางรัฐบาลและมหาวิทยาลัย, เมื่อเรียนจบแล้วสามารถหางานทำต่อได้ เป็นต้น จะทำให้ Essay เราดูหนักแน่นขึ้นครับ


  • เอา “เรื่องของตัวเอง” มาเล่า ก็คือมี Story นั่นเองครับ เช่น มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เราชอบเรียนเคมี? (ตัวอย่างเช่น เคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แล้วประทับใจการทดลอง อยากเรียนด้านนี้) เรารู้จักมหาวิทยาลัยนี้ได้อย่างไร? (มีรุ่นพี่มาแนะนำ, ประชาสัมพันธ์จากฝ่ายแนะแนวของโรงเรียน) การเขียนเห็นแบบนี้จะช่ายให้กรรมการที่อ่านเห็นอะไรบางอย่างในตัวเราโดดเด่นขึ้นมา (เขียนให้ดูดีได้ แต่ไม่เกินความเป็นจริงนะครับ) การเขียนแบบกว้าง (Generic) เกินไปนั้นใคร ๆ ก็เขียนได้ครับ


  • ระหว่างการเขียนก็ค้นคว้าข้อมูลไปบ้าง ถ้าเราต้องการพูดถึงจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ก็ลองไปอ่านหน้าเว็บมหาวิทยาลัยดูเลยครับ ไม่ต้องเสี่ยงกับการคิดข้อมูลขึ้นมาลอย ๆ ที่มีโอกาสผิดได้ หาข้อเท็จจริงหรือสถิติมารองรับก็จะทำให้ Essay เราดูจริงและน่าเชื่อถือขึ้น


  • ตรวจทานบ่อย ๆ อาจจะเปิดมาดูวันละ 2-3 ครั้ง เผื่อมีจุดที่ควรแก้หรือจุดที่ควรใส่เพิ่ม เช็คการสะกด ความต่อเนื่องของเนื้อหา พยายามให้มีจุดผิดพลาดน้อยที่สุด


  • ให้คุณครูตรวจทานทั้งเนื้อหาและการใช้ภาษาอังกฤษให้ก็ดีครับ


  • สิ่งที่สำคัญสุดท้ายเลยคือต้อง “เป็นตัวเรา” ครับ เขียนตามสิ่งที่เราเห็นว่าเหมาะสม คุณครูหรือเพื่อนอาจจะให้คำแนะนำเรื่องเนื้อหากับการใช้ภาษาได้ แต่สุดท้ายแล้ว เราต้องเป็นคนตัดสินใจเองครับ ว่าเราต้องการจะบอกอะไรกับทางมหาวิทยาลัยผ่านทาง Essay นี้บ้าง



4. Evaluation Form B

ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่มหาลัยจะได้รู้จักเรามากขึ้นว่าเป็นเราคนยังไง จากคำบอกเล่าของคนที่ใกล้ชิดเราด้านวิชาการ เช่น คุณครูที่ปรึกษาประจำชั้น คุณครูประจำวิชา ฯลฯ (ซึ่งก็คือ Recommendation Letter นั่นเอง) แน่นอนครับว่า Evaluation Form B เนี่ย อาจารย์จะเป็นคนเขียนให้ครับ เราจะไม่ทราบเลยว่าอาจารย์จะเขียนไปอย่างไรบ้าง สิ่งที่เราทำได้ก็จะมีดังต่อไปนี้

  1. ควรเลือกคนเขียนที่เราคิดว่า “รู้จักเราดีพอ” เพราะไม่อย่างนั้นจดหมายที่จะได้อาจจะ plain เกินไป ไม่ได้ทำให้ทางมหาวิทยาลัยรู้จักเรามากขึ้น (ถ้าจะเขียนว่า นักเรียนคนนี้ตั้งใจเรียนดี มีความใฝ่รู้ มีสัมมาคารวะ อย่างนี้ก็กว้างไป คุณครูก็เขียนให้นักเรียนได้ทุกคนไม่ใช่แค่เรา ใช่มั้ยล่ะครับ)

  2. ควรแจ้งคุณครูตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าจะขอรบกวนให้คุณครูเขียน Evaluation Form นี้ให้ คุณครูสะดวกมั้ยครับ ถ้าคุณครูตกลงว่าจะเขียนให้ก็แจ้งขั้นตอนคร่าว ๆ เลยครับว่าคุณครูจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น จะได้รับเมล์จากทางมหาวิทยาลัย เขียนแบบฟอร์ม ฯลฯ

  3. เผื่อเวลาให้คุณครูเขียนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แจ้งเดดไลน์ไว้ด้วยนะครับ (เผื่อล่วงหน้าเดดไลน์รับสมัครจริง ๆ ไว้ 2-3 วันก็ดีครับ เช่น ถ้าหมดเขตสมัครวันที่ 10 ก็แจ้งคุณครูว่าขอ Evaluation Form ให้เสร็จภายในวันที่ 7)

  4. สิ่งที่ควรทำอีกอย่างคือ เตรียมข้อมูลให้คุณครูใช้ประกอบการเขียน เช่น จุดเด่นจุดด้อยของเรามีอะไรบ้าง เราชอบเรียนวิชาอะไร อนาคตอยากทำงานอะไร เกี่ยวข้องกับคุณครูท่านนี้อย่างไรบ้าง ฯลฯ จะช่วยให้คุณครูเขียนได้ละเอียดขึ้นนะครับ

  5. พยายามติดตามความคืบหน้าว่าคุณครูเขียนเสร็จหรือยัง แต่ก็ไม่ควรถามแบบกดดันว่า “คุณครูครับ เขียนเสร็จยังครับ?” ควรจะถามอย่างสุภาพ “คุณครูครับ/คะ สำหรับ Evaluation form B จะต้องส่งภายในวันที่ ... ถ้าคุณครูต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผม/หนูเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ ... นะครับ/คะ” ก็คือเป็นการเตือนความจำครูว่าจะต้องใช้เอกสารภายในวันนั้น ๆ 


5. การเตรียมตัวสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ของ Kyoto iUP เราจะได้ไปสัมภาษณ์ที่สำนักงาน Kyoto University ASEAN Center (แถว ๆ สุขุมวิท-อโศก) ใช้เวลาสัมภาษณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง กับอาจารย์จากมหาวิทยาลัย 1 ท่านเป็นภาษาอังกฤษ (ถ้าโชคดีอาจจะได้คุยเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยนะ ผมลองมาแล้ว 5555) แต่จะมีคณะกรรมการอีกหลายท่าน video conference ดู​เราขณะกำลังสัมภาษณ์ด้วยครับ 

การสัมภาษณ์เป็นอะไรที่เตรียมตัวยากแล้วก็ตื่นเต้นทุกครั้งครับ เราต้องไปนั่งคุยกับกรรมการต่อหน้าเลย มีเครียด ประหม่าเป็นธรรมดา เราก็แค่เตรียมตัวไปให้ดีที่สุดก็พอ  บางคำถามในการสัมภาษณ์เราอาจจะเตรียมคำตอบไปคร่าว ๆ ก่อนได้ เช่น คุณรู้จักมหาวิทยาลัยนั้นแค่ไหน คุณคิดว่าคุณมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง ฯลฯ การเตรียมตัวสำหรับคำถามพวกนี้สามารถหาอ่านได้ตามอินเทอร์เน็ตเลยครับ คล้าย ๆ กับคำถามสมัครงาน บางคำถามก็จะอิงตาม Essay ที่เราเขียนไป (อย่าลืมอ่านทวนไปด้วยนะครับว่าเราเขียนอะไรลงไปใน Essay บ้าง) บางคำถามก็อาจจะคาดไม่ถึง เช่น คุณชอบนักวิทยาศาสตร์คนไหนบ้าง เจอคำถามแบบนี้เข้าไปก็อาจจะมีเหวอได้ ขอให้ตั้งสติ คิดหาคำตอบอย่างรวดเร็ว แล้วก็พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนคำตอบของเราให้ได้ 

 

ช่วงเวลารอผลการคัดเลือก

ช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นครับ ได้ยินแจ้งเตือนอีเมลก็สะดุ้งตลอด 55555 ทางระบบจะส่งอีเมลมาหาครับว่าไปเช็คใน Online Application System นะ มีแจ้งเตือนมา จะมีแจ้งเตือนประกาศผลรอบที่ 1, แจ้งเรื่องการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ไปญี่ปุ่น, แจ้งนัดวันเวลาสัมภาษณ์, แล้วก็ประกาศผลรอบ 2 แค่นี้ครับ ไม่เยอะ ๆ

นี่ก็คือรีวิวจากประสบการณ์ตรงของผมนะครับ ถ้าอยากติดตามเพิ่มเติมว่าหลังจากได้รับเข้าเรียนแล้ว จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ติดตามสอบถามส่วนตัวได้ที่ FB: NatthaNan KongChu, IG: k.natthanan, E-mail: natthanankwork@gmail.com ถ้าอยากอ่านรีวิวแบบนี้ของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ติดตามได้ที่เว็บนี้เลยครับ ขอบคุณครับบ


ส่งท้ายด้วยรูปทิวทัศน์สวย ๆ ของ Kamo River ที่เมืองเกียวโตครับ


รวม Link ที่มีประโยชน์

https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/ หน้าเว็บของ Kyoto iUP

https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/about/faculties.html คณะที่เปิดรับสมัคร

https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/about/documents.html โบรชัวร์ต่าง ๆ 

https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/campus-life/ เกี่ยวกับทุน ที่พักอาศัย วีซ่า ฯลฯ

https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/apply/ เกี่ยวกับการสมัครทั้ง Guideline และ Online System

https://www.iup.kyoto-u.ac.jp/apply/applicationflow.html Flowchart การสมัคร


1,296 views0 comments

Comentários


Post: Blog2_Post
bottom of page